สายพันธุ์ปลาคราฟ : ตอนที่ 1

สายพันธุ์ปลาคาร์พ
 

หลักๆ เราสามารถแบ่งปลาคาร์พออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่ม Gosanke และ กลุ่มปลาวาไรตี้
กลุ่ม Gosake หรือ Big 3 เป็นกลุ่มปลาคาร์พที่ผู้เลี้ยงนิยมเลี้ยงกันมากที่สุด ได้แก่ โคฮากุ , ซันเก้ และ โชว่า
              

 โคฮากุ (Kohaku)

มีประโยคอมตะของวงการปลาคาร์พกล่าวไว้ว่า “Keeping Nishikigoi begin with kohahu and end with kohaku” ประโยคดังกล่าวสามารถยืนยันความงามอันเป็นอมตะของปลาสายพันธุ์นี้ได้ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่ปลาสายพันธุ์นี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะลักษณะของลวดลายบนตัวปลา (Patterns) ตลอดจนมีหลักเกณฑ์ในการตัดสิน ความสวยงามของปลาแต่ละตัวมากที่สุด

มาตรฐานในการพิจารณาปลาสายพันธุ์นี้ โดยเบื้องต้นมีดังนี้ สีแดงบนตัวปลา (Hi) จะต้องแดงสดหรือแดงเลือดนก แต่บางสายพันธ์เช่นฟาร์ม Sakai อาจจะมีออกโทนส้มเข้มๆ ยังถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ของสีแดง สีแดงต้องหนาและแน่น ขอบของสีแดงต้องชัดและคม ไม่ควรมีขอบแดงที่เบลอมากจนเกินไป ทั้งสีขอบเกล็ดตอนหน้า (Sashi)ไม่ควรจางเกิน 2 แถวของเกล็ดตอนหน้า ตลอดจนสีทับตอนหลังและด้านข้างของเกล็ด (Kiwa) ไม่ควรมีขอบที่เบลอมากจนเกินไป ควรต้องคมชัด  สีขาว ที่เป็นสีพื้นต้องขาวบริสุทธิ์ หรือขาวหิมะ
 

 

ไม่ควรมีสีแดงที่ครีบหน้า (Pectoral fins) และที่หาง (Caudal fin) แต่ในการประกวดปัจจุบัน อาจจะมีการอนุโลมได้บ้าง สีแดงบนหัว ของปลาต้องไม่ล้ำเกินส่วนจมูกของปลา ไม่เลยทับดวงตาของปลาแต่หยุดที่ขอบตาได้  ส่วนหัวของปลา (Hachi) ต้องมีสีแดง ขอบสีแดงบนหัวปลาตอนหน้าควรจะเป็นรูปเกือกม้าหรือตัวยู (Kutsubera)

สีแดงตอนสุดท้ายของปลา (Ojima) จะต้องหยุดห่างจากโคนหางเล็กน้อย เพื่อให้เกิดช่องว่างสีขาวบริเวณโคนหาง ก่อนที่จะถึงส่วนหางของปลาที่เรียกว่า “Odome”  หรือที่เรียกกันในวงการปลาบ้านเราว่า “ท้ายเปิด” สีแดงบนตัวปลาจะต้องมีความสมดุลย์ ไม่ค่อนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง (ซ้ายหรือขวา) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่จะหาปลาที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาได้ครบถ้วน โคฮากุจึงเป็นสายพันธุ์ปลาที่มีราคาที่หลากหลายตั้งแต่หลักร้อยเยน จน ถึงราคาหลักร้อยล้านเยนกันเลยทีเดียว
 

 
นอกจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว โคฮากุ ยังมีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกลักษณะลวดลายที่แตกต่างกันบนตัวปลาออกไปอีก ดังนี้
Danmoyo, Dangara หมายถึง ปลาที่มีลวดลายบนหลังแบ่งเป็นตอนๆ ในภาษาญี่ปุ่น “Dan” แปลว่า “ตอน” หรือ “Step” ในภาษาอังกฤษ โดยยังมีการเรียกตามจำนวนตอนบนตัวปลาไปอีกดังนี้

 
Nidan Kohaku
หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 2 ตอน (Ni แปลว่า สอง, Dan แปลว่า ตอน)

 
Sandan Kohaku
หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 3 ตอน (San แปลว่า สาม) ปลาโคฮากุชนิด 3 ตอนนี้ นิยมว่าเป็นตอนมาตรฐานของปลาโคฮากุ

 
Yondan Kohaku
หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 4 ตอน (Yon แปลว่า สี่) ปลาโคฮากุชนิด 4 ตอนจะค่อนข้างหายาก และเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงระดับมืออาชีพ ถ้าลวดลายได้แบบมาตรฐาน ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างสูง

 
Godan Kohaku
หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 5 ตอน (Go แปลว่า สี่) ปลาโคฮากุชนิด 5 ตอนจะหายากมาก 


 


 
Maruten หมายถึง ปลาที่มีสีแดงกลมอยู่บนหัว บนตัวมีลวดลายตามปกติของปลาโคฮากุ หากตัวที่มีสีแดงกลมบนหัวแล้วตัวขาวล้วนจะถูกเรียกว่า Tancho Kohaku คำว่า "Maruten" ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า "มงกุฎ" ลวดลายแบบ Maruten นี้ เป็นลวดลายที่ได้รับความนิยมประเภทหนึ่ง



Inazuma หมายถึง ปลาที่มีลวดลายตอนเดียว เลื้อยผ่านตลอดความยาวลำตัวเหมือน “สายฟ้า” เป็นปลาที่มีลวดลายที่มีเสน่ห์และหายากอีกรูปแบบหนึ่ง



Kuchibeni หมายถึง ปลาที่มีสีแดงแต้มที่ปาก สีแดงที่ปากนี้จะมีประโยชน์ ในกรณีที่เกิดขึ้นกับปลาที่มีสีแดงบนส่วนหัวน้อยเกินไปเพราะจะทำให้ลวดลายดูสมดุลย์ขึ้น แต่หากเกิดขึ้นกับปลาที่มีลวดลายบนส่วนหัวสวยงามดีอยู่แล้ว ก็อาจทำให้ปลาตัวนั้นดูด้อยลงก็ได้ คำว่า "Kuchi" แปลว่า "ปาก" ส่วน "Beni" แปลว่า "แดง" ดังนั้นแปลรวมๆ จึงหมายความว่า "ปากแดง" หรือ ที่นักเลี้ยงเรียกกันว่า "ลิปสติก" นั่นเอง


 

ไทโช ซันโซกุ หรือ ซันเก้ (Taisho Sanshoku / Taisho Sanke)

เป็นชื่อเต็มของปลาสายพันธุ์ที่นักเลี้ยงเมืองไทยนิยมเรียกันติดปากว่า "ซันเก้ (Sanke)" ทั้งหมด แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สามสี ซึ่งปลาสายพันธ์นี้ได้เริ่มแพร่หลายในยุคสมัยไทโช ดังนั้นชื่อของปลาสายพันธุ์นี้จึงแปลได้ความหมายว่า ปลาสามสีแห่งยุคไทโช
 

 
ความสวยงามของปลาโคฮากุ เป็นความสวยงามลงตัวของลวดลายสีแดงบนพื้นขาว
สำหรับในกรณีของซันเก้นั้น ได้มีโจทย์เพิ่มเข้ามาอีก 1 สี คือ สีดำ (Sumi)
 


 
การพิจารณาความสวยงาม และความลงตัวของสีแดงบนพื้นขาวนั้นไม่ต่างจากปลาโคฮากุ
จึงมีการใช้คำศัพท์บางคำที่ใช้กับปลาโคฮากุมาใช้กับปลาซันเก้ด้วย เช่น Maruten, Kuchibeni, Hanatsuki, และ Menka buri เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาความสวยงามของสีดำบนตัวปลานั้นพิจารณาได้ดังนี้คือ
สีดำจะต้องสนิท (ดำถ่าน) มีขอบที่คมชัดและวางตัวอย่างสมดุลย์ ทั้งด้านซ้าย-ขวาของตัวปลา หรือตอนส่วนหัวต้องสมดุลย์กันจรดส่วนหางลักษณะการวางตัวที่ดีสีดำนั้น ควรจะวางตัวลงบนพื้นขาว เรียกว่า Tsubo Sumi การที่สีดำวางตัวลงบนสีแดงนั้น จะทำให้ความโดดเด่นของสีดำดูด้อยลงไป โดยเราเรียกสีดำที่วางตัวลงบนสีแดงว่า “Kasane Sumi” นอกจากนี้แล้วสีดำควรจะปรากฏขึ้นเป็นพื้นใหญ่ๆ ชัดๆ จะดีกว่าปรากฏขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ แบบลักษณะของขี้แมลงวัน

ปลาซันเก้ที่ดีนั้น ในบริเวณส่วนหัวของปลาจะต้องไม่มีสีดำเลย ในขณะเดียวกันครีบหน้าและหางก็ไม่ควรมีสีแดงอยู่เลย แต่ควรจะมีสีดำเป็นเส้นๆ อยู่ไม่เกิน 3 เส้น/ครีบ

ความสนุกของการเลือกซื้อปลาสายพันธุ์นี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความไม่คงที่ของสีดำในตัวปลาที่ยังอายุน้อย ต่ำกว่า 2 ปี (Tosai) จะยังมีสีดำส่วนหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นหลังจากเราเลี้ยงปลาตัวนั้นไปได้สักระยะหนึ่ง แต่จะไม่เกิดขึ้นกับปลาทุกตัว สีดำประเภทนี้เรียกว่า “Ato Sumi” ซึ่ง Ato Sumi นี้ จะมีส่วนทำให้ลูกปลาที่เราเลี้ยงไว้มีความสวยงามมากขึ้น หรือดูด้อยค่าลงไปก็ได้

จุดสนใจอีกที่หนึ่ง ที่นักเลี้ยงหลายท่านใช้เป็นหลักในการเลือกคือ พื้นดำบริเวณไหล่ ถ้ามีวางบริเวณนั้นจะทำให้ปลาตัวนั้นดูสวยขึ้นอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

 
โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku)

ปลาคาร์พสายพันธุ์ที่สาม เป็นสายพันธ์สุดท้ายที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Gosanke สำหรับนักเลี้ยงบ้านเรานิยมเรียกว่า โชว่า (Showa) นักเลี้ยงปลามือใหม่บางท่านอาจสับสนในการจำแนกแยกแยะระหว่าง ซันเก้ กับ โชว่า ปลาสองสายพันธ์นี้มีอะไรที่แตกต่างกันพอสมควร หากจับหลักได้ก็จะแยกแยะได้ไม่ยาก คือ

ซันเก้ (Sanke) จะมีครีบหน้าสีขาวล้วน หรือสีดำในลักษณะเป็นเส้นๆ แต่ปลา โชว่า (Showa) จะต้องมีสีดำที่โคนครีบที่เรียกว่า “Motoguro” เป็นสีดำพื้นใหญ่คลุมโคนครีบหน้า
บางครั้งปลา โชว่า ตอนเล็กจะมีครีบหนาดำทั้งพื้นแต่ปลา โชวา ส่วนใหญ่พื้นสีดำจะค่อยๆ หดตัวลงไปรวมที่โคนครีบเมื่อโตขึ้น
ลักษณะของสีดำบนปลา ซันเก้ จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกลม และโดยส่วนใหญ่จะพบว่าวางตัวอยู่เหนือเส้นประสาทข้างตัวของปลาขึ้นไป แต่สำหรับปลา โชว่า (Showa) นั้น ลักษณะของสีดำจะปรากฏขึ้นเป็นแถบกว้างและยาว การวางตัวเป็นแถบยาวนี้จะพาดลงถึงเส้นประสาทข้างตัวปลาและเลยลงไปถึงช่วงท้องของปลาเลยทีเดียว

ปลาซันเก้ ที่ดีจะไม่มีสีดำในช่วงส่วนหัวของปลาเลย แต่ปลาโชว่าที่ดีจะต้องมีสีดำบริเวณส่วนหัวของปลา เป็นสิ่งที่สำคัญมากและมีผลต่อความงามของปลาแต่ละตัวโดยตรง


 
สีดำ (Sumi) บนตัวปลา โชว่า นั้น สีดำจะปรากฏขึ้นแบบแถบกว้างและยาว พาดลงไปจนถึงช่วงท้องของปลา ดูคล้ายลายพรางของชุดทหาร ลวดลายที่จัดว่าสวยจะต้องดำสนิทขอบคมชัด ตลอดจนมีพื้นสีดำเรียบสมดุลย์ทั้งในตัวของสีดำเอง และดูลงตัวสวยงามเมื่อมองดูประกอบกับสีอื่นคือสีแดง และสีขาวบนตัวปลา

สีขาว (Shiroji) บนตัวปลานั้นแน่นอนควรจะเป็นสีขาวบริสุทธิ์ (ขาวหิมะ) โดยการพิจารณาคุณภาพของพื้นสีขาว ควรดูความหนาของพื้นสีขาวถ้ายิ่งหนามากยิ่งดี โดยจะมีพื้นสีขาวจะมีอยู่ประมาณ 20-30% ของลำตัว แต่หากปลา โชว่า ตัวไหน มีพื้นที่ขาวมากกว่าจำนวนเปอร์เซนต์ดังกล่าว จะเรียกว่า “Kindai Showa” หรือ “Modern Showa”


 
นอกจาก โชว่า ซันโชกุ (Showa sanshoku) และ คินได โชว่า (Kindai showa) แล้ว ยังมีปลาที่มีชื่อเรียกต่างออกไปที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มโชวาดังนี้
 
ฮิ โชว่า (Hi Showa) หมายถึง ปลาโชว่าที่สีแดงยาวตลอดเป็นตอนเดียวตั้งแต่หัวไปจรดหาง ปลาโชว่าลวดลายนี้ ไม่สู้เป็นที่นิยมนักในปัจจุบัน
ตันโจ โชว่า (Tansho Showa) หมายถึงปลาโชว่าที่มีสีแดงเฉพาะที่หัวเท่านั้นในบริเวณลำตัวมีเฉพาะสีขาวกับดำหลายสายพันธุ์นี้ถูกจัดให้เข้าประกวดในสายพันธุ์ตันโจ (Tancho)




 
" เพชรฟาร์ม " :: ฟาร์มปลาคาร์ฟ ญี่ปุ่น นำเข้า 100% สามารถซื้อปลาคราฟ -  ยารักษาโรคปลาคราฟ - วางระบบบ่อปลาคราฟ – อุปกรณ์สำหรับบ่อปลาคราฟ


ติดตามข่าวสารทาง Facebook Fanpage
https://www.facebook.com/K.PetchFarm



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร : 084-3581969 (ปราง)    Line@ : @koibypetchfarm


#ปลาคราฟ #ปลาคาร์ฟ #ปลาคาร์ป #ล้างบ่อปลา #แก้ปัญหาน้ำไม่ใส #น้ำเขียว #น้ำไม่ใส #ล้างบ่อกรอง #ปลาป่วย #รักษาปลาป่วย #ปลาทอง #ปลาสวยงาม #ยารักษาปลา #ปลาคาร์ฟนำเข้า #ปลานำเข้า #ปลาไม่สบาย #เพชรฟาร์ม #โค่ยบายเพชรฟาร์ม #koibypetchfarm #ขายยาปลา #อุปกรณ์ปลา #ปลาคราฟสวย #ขายปลาถูก