ปลาป่วย เกล็ดตั้ง - เกล็ดพอง รักษาอย่างไรดี?
ปลาคราฟ - ปลาทองป่วยเกล็ดตั้ง เกล็ดพอง เกิดจากอะไร?
อาการเกล็ดตั้งและเกล็ดพองในปลาคาร์ฟ - ปลาทอง เกิดจากอาการอักเสบบริเวณใต้ฐานเกล็ดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง ซึ่งส่งผลทำให้ระบบภายในของปลา ได้แก่ ตับและไตเกิดการอักเสบ เส้นเลือดใต้เกล็ดจึงบวมจนเกล็ดตั้งพองขึ้นทำให้ปลายเกล็ดไม่แนบกับลำตัวและเกิดเป็นภาวะเกล็ดตั้งขึ้นในปลา
สาเหตุสำคัญของอาการป่วย
เกิดจากคุณภาพน้ำในบ่อปลาที่ไม่ดี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) เพราะระบบกรองเกิดการหมักหมมโดยไม่ได้รับการล้างทำความสะอาด ทำให้ปลาเกิดความเครียดและระบบภูมิคุ้มกันของปลาตกลง ปลาจึงเกิดอาการป่วยได้ง่ายวิธีสังเกตอาการป่วยของปลา
ปลาจะเริ่มมีอาการไม่กินอาหาร บริเวณช่วงท้องเริ่มบวมขึ้น เกิดอาการตาโปนเนื่องจากความดันภายในเบ้าตาสูงจากการติดเชื้อ เกล็ดเริ่มตั้งขึ้นคล้ายเมล็ดสน บริเวณที่เกล็ดตั้งสังเกตได้ว่าใต้ผิวบวมแดงอักเสบ ชอบว่ายแฉลบถูพื้นบ่อ และเกล็ดบางส่วนหลุดออก เผยให้เห็นแผลบวมแดงอักเสบใต้เกล็ด มักชอบว่ายลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำหรือในบริเวณที่มีออกซิเจนมากวิธีรักษาปลาคราฟ หรือ ปลาทองที่มีอาการป่วยเกล็ดตั้ง หรือ เกล็ดพอง
เนื่องจากอาการเกล็ดตั้งจะมีภาวะติดเชื้อภายในตัวปลาที่ค่อนข้างหนักส่งผลให้โอกาสรอดชีวิตของปลาอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากพบอาการของโรคไว มีอาการพองบวมแค่ช่องท้องไม่เยอะสามารถรักษาให้ปลามีอาการดีขึ้นได้โดยเริ่มต้นจากการล้างระบบกรองเพื่อลดปริมาณของเสียที่สะสมในบ่อปลา ทำให้ค่าแอมโมเนีย ไนเตรท และ ไนไตร์ทในบ่อปลากลับเข้าสู่ภาวะปกติวิธีการใช้งานยา
แยกปลาป่วยออกมาใส่ในอ่างหรือบ่อที่มีขนาดกว้างขวางและไม่อึดอัด โดยอ่างที่ใส่ปลาควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 30 cm และมีความกว้างเป็น 2 - 3 เท่าของปลารวมถึงควรมีตาข่ายคลุมเพื่อป้องกันปลากระโดดและควรมีอ็อกซิเจนให้ปลาด้วย บ่อที่น้ำไม่ตื้นจนเกินไปจะช่วยรักษาอุณหภูมิได้ดีทำให้อุณหภูมิไม่สวิงขึ้น-ลงมากในระหว่างวัน เมื่อแยกปลาออกมาเรียบร้อยแล้วให้คำนวณปริมาตรน้ำในอ่างกักโรคจากสูตรตามรูปด้านล่าง
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://aqua.c1ub.net/home/index.php?action=calculator
หลังจากได้ปริมาตรน้ำที่แม่นยำแล้วจึงใส่แอมม็อกซีซิลลิน ปริมาณ 3 - 5 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน (ปลาป่วยน้อยใส่ 3 กรัม/น้ำ 1 ตัน - ปลาป่วยมากใส่ 5 กรัม/น้ำ 1 ตัน) จากนั้นใส่พราซีควอนเทล 2 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน (พราซีควอนเทลต้องละลายแอลกอฮอล์ 70% หรือ 95% ก่อนใส่ลงบ่อปลาเนื่องจากพราซีไม่ละลายน้ำ) ควบคู่กับการใส่เกลือ 3 - 5 กิโลกรัม / น้ำ 1 ตัน ลงในอ่างกักโรค
งดการให้อาหารปลาเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย และเปลี่ยนถ่ายน้ำในอ่างกักโรคทุกวัน วันละ 20 - 30% รักษาค่าความเค็มของเกลือให้อยู่ที่ระดับ 3 - 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตันตลอดเวลา และเติมแอมม็อกซีซิลลินทุกวันจนกว่าอาการของปลาจะดีขึ้น
นอกจากนี้ควรมีการฉีดยาปลาร่วมด้วย โดยเริ่มจากการนำปลามาใส่ในภาชนะที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาเล็กน้อย ใส่น้ำลงไปพอท่วมเหงือกปลาและหยดยาสลบลงไปในน้ำรอจนกว่าปลาจะเริ่มว่ายช้าลงและสงบนิ่งจึงทำการฉีดยา ซึ่งตำแหน่งที่สามารถฉีดยาได้คือบริเวณใต้ครีบอก (ครีบว่าย) จะมีลักษณะปุ่มนูนไม่มีเกล็ด และ บริเวณปลายกระโดงหลังก็สามารถฉีดยาเข้าไปได้อีกจุดหนึ่ง ปริมาณโดสยาที่เหมาะสมในการฉีดคือ 0.1 cc ต่อขนาดปลา 10 cm โดยควรฉีดยารักษาวันเว้นวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น การฉีดยาจะลดการอักเสบและติดเชื้อภายในทำให้โอกาสรอดของปลามีสูงขึ้น
หากบริเวณตัวปลามีแผลพุพอง ให้ทำแผลโดยการซับแผลให้แห้ง ดึงเกล็ดที่หลุดร่อนออกด้วยแหนบ จากนั้นซับบริเวณบาดแผลให้แห้งแล้วทาด้วยยาม่วงหรือขี้ผึ้งเบตาดีนเพื่อลดอาการอักเสบของผิวบริเวณบาดแผล
" เพชรฟาร์ม " :: ฟาร์มปลาคาร์ฟ ญี่ปุ่น นำเข้า 100% สามารถซื้อปลาคราฟ - ยารักษาโรคปลาคราฟ - วางระบบบ่อปลาคราฟ – อุปกรณ์สำหรับบ่อปลาคราฟ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line Official : @koibypetchfarm
#ปลาคราฟ #ปลาคาร์ฟ #ปลาคาร์ป #ล้างบ่อปลา #แก้ปัญหาน้ำไม่ใส #น้ำเขียว #น้ำไม่ใส #ล้างบ่อกรอง #ปลาป่วย #รักษาปลาป่วย #ปลาทอง #ปลาสวยงาม #ยารักษาปลา #ปลาคาร์ฟนำเข้า #ปลานำเข้า #ปลาไม่สบาย #เพชรฟาร์ม #โค่ยบายเพชรฟาร์ม #koibypetchfarm #ขายยาปลา #อุปกรณ์ปลา #ปลาคราฟสวย #ขายปลาถูก